06 May 2021

Unveiling the insights of GC's leader on the company’s mission to grow every day in all dimensions in a sustainable way (Forbes Thailand)

แม้ปี 2563 ที่ผ่านมา จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด 19) ผลกระทบจากความผันผวนด้านราคา จากสงครามน้ำมันดิบ และ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

แต่ด้วยกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ภายใต้การนำของ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ที่ยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยน      ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ผันผวน และไม่หยุดที่จะแสวงหาโอกาสสู่การเติบโตครั้งใหม่ทั้งในและ      ต่างประเทศ ทำให้ผลประกอบการในปีที่เรียกได้ว่าเป็นปีที่สาหัส ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้รายได้จะ  ลดลง แต่ยังมีผลกำไร จากแผนการปรับลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานทำให้ต้นทุนถูกลง

ทั้งนี้ ดร.คงกระพัน ยังเชื่อมั่นว่า ผลประกอบการในปี 2564 จะดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป้ารายได้ว่าจะเติบโตอยู่ที่ 8-10% ตามปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8-10%  หลังจาก 3 โครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ทยอยเปิดเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์ ประกอบกับสัญญาณบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่ชะลอตัวไปก่อนหน้านี้เริ่มกลับมา

คำถาม คือ ท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอน จากนี้ GC จะมีกลยุทธ์อย่างไรในการขับเคลื่อนธุรกิจ        ให้สามารถสร้างการเติบโตและสร้างผลกำไรได้อย่างมั่นคง บนรากฐานการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน

เพื่อฉายภาพให้เห็นทิศทางของ GC จากนี้ ดร.คงกระพัน สรุปออกมาเป็น 3 กลยุทธ์ เริ่มจาก Step Change หรือ การทำบ้านให้แข็งแรง ด้วยการปรับตัวไปสู่ธุรกิจปลายน้ำมากขึ้น ทำให้ต้นทุนธุรกิจถูกลงและมีความยืดหยุ่นด้านวัตถุดิบมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพสายการผลิตตั้งแต่ต้นทาง (Upstream) ไปจนถึงปลายทาง (Downstream) ขยายผลิตภัณฑ์และต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น กระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ

ถัดมา คือ Step Out หรือ การมองหาโอกาสขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยจะมุ่งไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรสูง ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก ไม่ว่าจะเป็น กระแสดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่สังคมผู้สูงอายุ โดยจะใช้วิธีควบรวมกิจการ (M&A) และ Corporate Venture Capital (CVC) กับธุรกิจใหม่ที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่ทำอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาวของ GC ที่ตั้งเป้าจะมีกำไรจากธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10%

“แทนที่จะเสียเวลาพัฒนาธุรกิจเอง ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 5-10 ปี เราจะใช้วิธีควบรวมกิจการ (M&A) แทน อย่างการเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) หรือ VNT ก็เช่นกัน โดยกลุ่มธุรกิจที่เราสนใจเข้าไป M&A ด้วย จะเน้นกลุ่มพลาสติกที่มีสมรรถนะสูง (High Performance Polymer) และกลุ่มวัสดุเคลือบผิว(Coating) ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโดยเฉพาะในแวดวงอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องบิน นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เราศึกษาเพื่อไปลงทุนสร้างปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ เพื่อเป็นบ้านหลังใหม่ เพราะเป็นแหล่งที่มีวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีในราคาต่ำที่สุดในโลก แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัว แต่ดีมานด์ในการใช้โพลิเมอร์ยังเติบโต”

มาถึงกลยุทธ์สุดท้าย คือ Step up หรือ การสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ ดร.คงกระพัน กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในทุกการดำเนินธุรกิจของ GC ดังนั้น ไม่ว่าจะเดินตามกลยุทธ์ Step Change หรือ Step Out ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคมและ      สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลจากการดำเนินงานอย่างแข็งขันในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ GC ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจมากมายที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้น คือ ได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) เป็นอันดับที่ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์

“แม้ในวันที่โลกเจอกับวิกฤติโควิด 19 GC ก็ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดย GC มีบรรจุภัณฑ์      ไบโอพลาสติก ได้แก่ ถ้วย ถาดใส่อาหาร ช้อนส้อม เป็นทางเลือกเพื่อความปลอดภัยต่อสุขอนามัย รวมถึง  มีความพร้อมในการเดินหน้าร่วมกับหลากหลายพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร ให้พิจารณาเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์      ด้วยการพัฒนานวัตกรรมพลาสติก เพื่อผลิตและส่งต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ อาทิ เสื้อกาวน์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกอินโนพลัส ใช้ครั้งเดียวทิ้ง พัฒนาตู้โควิเคลียร์หรือตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ ตู้แรกของไทย ล่าสุดยังพัฒนาชุด Coverall ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลประเภท PET (rPET) 100% ตัวแรกของโลกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่หากจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล ซึ่งดร.คงกระพัน มั่นใจว่า GC มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ อนุมัติกรอบการออกหุ้นกู้ 5 ปี วงเงิน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีนี้ GC ได้ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 1,250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นหุ้นกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐแรกในปีนี้ของไทย และยังเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่ GC ออกหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศ จึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งการออกหุ้นกู้นี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งของ GC ให้เติบโตในเวทีโลก เพื่อรองรับการขยายและเพิ่มความยืดหยุ่นของธุรกิจในอนาคต

ทั้งหมดนี้ คือ กลยุทธ์อันแยบยลที่แม่ทัพใหญ่แห่ง GC ฉายภาพให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยวิสัยทัศน์ของ GC  ที่ว่า Chemistry for Better Living ซึ่งสามารถตีความได้ 2 มิติ หนึ่ง คือ การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์จากเคมีภัณฑ์ที่อยู่รอบตัว

“แต่ในอีกมิติของคำว่า Chemistry ไม่ได้หมายถึงแค่เคมีภัณฑ์เท่านั้น แต่สื่อถึงเคมีระหว่างผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นในองค์รวมนั่นเอง” ดร.คงกระพันทิ้งท้าย