11 November 2020

Look to the future: When the Circular Economy isn't an option but an approach that businesses need to pay special attention to

ธุรกิจมีขึ้นมีลงตามวัฏจักรของมันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือเล็กก็ตามที กระทั่งบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC แบรนด์เคมีภัณฑ์ระดับโลกของไทย ก็ยังต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลก พร้อมรับมือกับแรงกดดันจากผู้บริโภคซึ่งคาดหวังว่าผู้ผลิตทั้งหลายจะพัฒนาสินค้าที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในยุคก่อน COVID-19 พลาสติกถูกแบนจากสังคมจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องการบริหารจัดการขยะ ทั้งที่พลาสติกมีประโยชน์อย่างมากกับการดำรงชีวิตที่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมน้อยลง นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และเป็นองค์ประกอบสำคัญของนวัตกรรมแห่งอนาคต 

จนเมื่อโลกเผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเจอมาก่อนนี้ บทบาทของพลาสติกจึงยิ่งสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับสุขอนามัยของผู้คน และกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความมั่นคงด้านสาธารณสุขและการแพทย์ไปโดยปริยาย ซึ่งพลาสติกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสินค้าหลักที่ GC ผลิตเท่านั้น แกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship) ของกลุ่ม ปตท. ยังครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อะโรเมติกส์ โอเลฟินส์ โพลิเมอร์ เอทิลีนออกไซด์ เคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ฟีนอล และ Performance Materials & Chemicals

ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GC ยังคงเชื่อในคุณค่าหลักขององค์กรที่ปลูกฝังให้คนกล้าคิด กล้าทำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ เขาเห็นว่าไบโอพลาสติกหรือพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้จะมีพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ แต่ธุรกิจพลาสติกเดิมก็จะยังคงอยู่ เพียงแต่ถูกพัฒนาให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นเพื่อการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิม สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานนับพันรายของ GC ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องแม้จะปรับใช้กับกระบวนการทางธุรกิจของตนเองมานานแล้วก็ตามที 

The Cloud ได้พูดคุยกับกัปตันทีมผู้เชื่อเรื่ององค์ความรู้และรักการอ่านหนังสือทุกประเภทเมื่อมีเวลาว่าง และทราบว่ากำลังจะมีงาน GC Circular Living Symposium 2020 ที่ต่อยอดความสำเร็จจากปีที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังจะจุดประกายให้ภาคธุรกิจและคนในสังคมได้เห็นประโยชน์ที่นำไปสร้างโอกาสทางธุรกิจได้จริง มีผู้ที่ปฏิบัติจนประสบความสำเร็จแล้วจริงๆ จากทั่วทุกมุมโลกมารวมเอาไว้ในงานเดียว 

ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

ตอนนี้เวลาพูดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใครๆ ก็หยิบยกเรื่อง Climate Change มาพูด GC มีมุมมองเรื่องความยั่งยืนอย่างไร

ผมว่าการให้ความสำคัญกับเรื่อง Climate Change เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ความยั่งยืนที่เราเชื่อและทำมาโดยตลอดมันครอบคลุมทุกส่วนอยู่แล้ว มาถึงวันนี้มันไม่ได้เปลี่ยนไป ความยั่งยืนคือการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม 

อย่างด้านเศรษฐกิจ เรามองว่าไม่ได้จะเน้นกำไรอย่างเดียว จริงอยู่ที่การทำธุรกิจต้องมีกำไรอยู่แล้ว แต่กำไรต้องครอบคลุมทุกส่วนมากขึ้น เพราะมันไม่ได้มีแค่เราแต่ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย ช่วงที่ COVID-19 ส่งผลกระทบนี้ไปถึง ซัพพลายเออร์และลูกค้าของเรา เราก็ต้องพาเขาไปด้วยกันให้ได้ ถ้าจะทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คนในห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทานจะต้องไปด้วยกันได้ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันทั้งโลกอยู่แล้ว ถ้าเราอยู่ดีแต่คนอื่นไม่ดี มันก็ไปต่อไม่ได้ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ของเราก็เกี่ยวพันกับอีกร้อยพันองค์กรครับ เรื่องแบบนี้ต้องคิดให้ยาว เพื่อจะอยู่กันยาวๆ 

อย่างด้านสังคม บ้านของเราก็คือที่โรงงานในจังหวัดระยอง เราก็ต้องดูแลสังคมในระยองด้วย ไม่ว่าจะระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น การดูแลพวกเขาก็ต้องยั่งยืน ไม่ใช่การเอาเงินไปให้ แต่ต้องทำให้ชุมชนยืนได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่เราช่วยประคองเขาด้วยการช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มโควต้ารับคนระยองมาทำงาน สนับสนุนภาคการศึกษา ช่วยด้านประมงหรือเกษตรกรรม ใช้ความรู้ของเราไปสอนเขาพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นแข็งแรง 

ในส่วนของสิ่งแวดล้อม เราใส่ใจกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) สิ่งที่ GC เน้นคือ Climate Change และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สิ่งที่เราทำอยู่ต้องมีผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญด้วยหลักการของ Circular Economy นี่ล่ะครับ 

แล้วทาง GC ทำเรื่อง Circular Economy อย่างไร

เรามีแนวคิดที่สำคัญคือ Chemistry for Better Living นี่เป็นวิสัยทัศน์สำคัญที่อธิบายเรื่องความยั่งยืนได้ เราทำเคมีภัณฑ์เพื่อให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน มีการเดินทางสะดวก มีสุขอนามัยต่างๆ ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ คำว่า Chemistry ยังไม่ได้หมายถึงเรื่องของเคมีภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเคมีระหว่างกัน การอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนของสังคมกับสิ่งแวดล้อมด้วย เกิดเป็น Better Living

หลักการทำ Circular Economy ของ GC แบ่งออกเป็นสามเรื่องครับ เรื่องแรกคือ Smart Operating เราต้องทำงานอย่างฉลาดเพื่อลดการใช้ทรัพยาการ ลดการปล่อยของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัตถุดิบให้น้อยลง ประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งชี้วัดได้จากกระบวนการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง ไม่ว่าใครก็เอาไปปรับใช้ได้

เรื่องที่สองคือ Responsible Caring ซึ่ง GC มีสินค้าที่ครบวงจร ถ้าเป็นพลาสติกจากปิโตรเคมี ก็จะเอาไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลได้ ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีไบโอพลาสติกหรือพลาสติกชีวภาพ พอเอาไปทิ้งในดินก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้ นี่เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำของเหล่านี้ออกมา หรือสำหรับในชีวิตประจำวัน อาคารต่างๆ ที่ออกแบบหรือก่อสร้างโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง หรือใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา มีความคงทนแข็งแรง ก็ถือเป็น Responsible Caring เช่นกัน

และเรื่องที่สาม Loop Connecting เป็นการสร้างแนวร่วมเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี ถ้าเราทำสองอย่างแรกมันก็ดีครับ แต่ถ้าทำกันไม่มากพอ ผลลัพธ์ก็จะอยู่ในวงจำกัด เราจึงต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับแนวร่วม เราเริ่มจากปลายน้ำก่อน จากเล็กไปใหญ่ หลายปีที่แล้วเราช่วยกันเก็บขยะพลาสติกจากทะเล เอาไปผ่านขั้นตอนการีไซเคิลและอัพไซเคิล เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล (Recycled Polyester) ก่อนนำไปผสมกับเส้นใยฝ้าย (Cotton) และเส้นใยซิงค์โพลิเอสเตอร์รีไซเคิล (Antibacterial Polyester Zinc) ที่มีคุณสมบัติช่วยลดกลิ่นอับเวลาสวมใส่แล้วนำไปถักทอโดยชาวบ้านชุมชนคุ้งบางกะเจ้า เป็นจีวรรีไซเคิลสีพระราชนิยมที่นุ่งห่มสบาย ไม่ยับง่าย และแห้งไว นี่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเลย

ปลูกฝังคนในองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เห็นความสำคัญเรื่องนี้อย่างไร

GC เกิดจากการควบรวมสี่บริษัทที่มีวัฒนธรรมที่ต่างกัน เราก็เลยต้องทำเรื่องนี้ตั้งแต่แรกเลย เราทำงานด้วยกัน สร้างวัฒนธรรมองค์กรและคุณค่าหลักขององค์กรร่วมกันสี่เรื่อง มีเรื่องหนึ่งที่เป็นคุณค่าหลัก คือเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน อันนี้เราปลูกฝังและปรับมาใช้เรื่อง Circular Economy ด้วย 

ถ้าเรามองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน มันจึงจะเกิดได้ ตอนนี้เรามีแนวร่วมกับบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของเราที่เชื่อเรื่องความยั่งยืนเหมือนกัน สุดท้ายทำแล้วต้องเป็นธุรกิจให้ได้ อย่างตอนนี้ GC ก็ร่วมมือกับกลุ่มไทยเบฟ ผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เขาซึ่งก็ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ หรืออย่างธนาคารกสิกรไทยกับเครือไทยยูเนี่ยนก็จับมือกับเราเช่นกัน

ก่อนหน้านี้คนมองว่าพลาสติกเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม 

ผมคิดว่าพลาสติกเป็นของที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมนะครับ เช่น ภาชนะต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องไปตัดต้นไม้มาใช้ ปัญหาจริงๆ คือเราทิ้งมันไม่ดี ทิ้งลงไปตามท่อบ้าง ทิ้งบนพื้น ขยะเหล่านี้ก็ถูกพัดพาลงแม่น้ำ ลงทะเล พอลงทะเลปลาก็มากิน สะท้อนว่าปัญหาอยู่ที่การจัดการ

ก่อน COVID-19 เราพยายามสื่อสารไปทุกส่วนว่าวิธีแก้ปัญหาจะต้องมีทางออกเพื่อทุกคน ใครอยากใช้พลาสติกก็ต้องหาทางให้เขาทิ้งได้อย่างถูกต้องเพื่อเอามาใช้ประโยชน์ต่อ หรืออาจมีอีกทางเลือกคือไบโอพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ตอนนี้พอเกิดโรค COVID-19 คนก็กลัว การนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลก็น้อยลง เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัย เราก็เลยมองว่าความเข้าใจเรื่อง Circular Economy เป็นสิ่งจำเป็น ต้องมีวิธีทำให้คนช่วยกันมากขึ้น อย่างล่าสุดเราไปร่วมมือกับภาครัฐและผู้ให้บริการจัดส่งอาหารในการช่วยลดขยะพลาสติกซึ่งเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ในแอปพลิเคชันมีให้เลือกได้ว่าจะใช้บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกหรือไม่ มีทั้งหลอด ภาชนะ และช้อนส้อม ทุกคนต้องช่วยร่วมมือกันแบบนี้ 

นี่เป็นปีที่ 2 แล้วสำหรับ GC Circular Living Symposium 2020 คุณคาดหวังกับงานนี้แค่ไหน

เราต้องการทำให้สังคมเห็นว่าเรื่อง Circular Economy นี้ทำได้จริง ไม่ใช่แค่ทฤษฎี มีองค์ประกอบสามสี่อย่างที่ทำให้งานนี้แตกต่างจากงานอื่น อย่างแรกก็คือ แนวร่วมและพันธมิตร นี่ไม่ใช่แค่งานที่ GC มาบอกว่าเราทำอะไรบ้าง แต่เป็นที่ที่เราให้แนวร่วมที่เป็นทั้งคู่ค้า ผู้นำความคิด กระทั่งเยาวชนก็มาร่วมงานด้วย 

อย่างที่สองคือ นวัตกรรม มีสินค้าที่ผลิตด้วยแนวคิด Circular Economy ออกมาให้เห็นกันจริงๆ ไม่ใช่แค่ความคิด 

อย่างที่สามคือ ธุรกิจ ทุกคนในงานจะมาคุยกันว่าทำอย่างไรให้เรื่องนี้เป็นธุรกิจขึ้นมาได้จริง 

และเรื่องสุดท้ายคือ ระบบนิเวศ ที่จะแสดงให้เห็นว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร สินค้าและโมเดลธุรกิจจะเป็นอย่างไรนับจากนี้ GC ยังมีพันธมิตรระดับโลกอย่าง National Geographic มาร่วมงานด้วย เขาจะมาโชว์ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้คนในงานเห็นผ่านโลกออนไลน์ด้วย

งานปีนี้จะต่างจากปีที่แล้วอย่างไร

ปีที่แล้วเราสร้างการตระหนักรู้ให้คนเห็นความสำคัญของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ปีนี้เราจึงทำให้เห็นการปฏิบัติได้จริงมากขึ้น ทำให้เห็นชัดไปเลยว่าเป็นอย่างไร เพื่อจุดประกายให้ทุกคนเห็นตัวอย่าง เกิดไอเดียเลยว่าถ้าเราอยากทำเรื่องนี้ จะประยุกต์กับธุรกิจและชีวิตของเราอย่างไร 

ที่น่าทึ่งคือมีผู้นำความคิดหลายสิบคนที่เป็นตัวจริงในแต่ละด้าน ตั้งแต่ Startup ไปจนถึงธุรกิจใหญ่ๆ จะมาแชร์ว่าเขาเอาแนวคิด Circular Economy ไปใช้ในองค์กรอย่างไร สร้างความเชื่อมโยงในรูปแบบไหน เราอยากให้ทุกคนได้เห็นว่าแนวคิดนี้ถูกนำไปทำให้เกิดผลได้อย่างไร เมื่อมีคนเอาไปต่อยอด เราก็ช่วยพวกเขาให้ไปทำต่อ ทำแล้วติดขัดตรงไหนหรือไม่เข้าใจก็กลับมาคุยกัน เรามีเครือข่ายทางธุรกิจต่างๆ ที่พร้อมช่วยเหลือเพื่อขยายผลเรื่องนี้ออกไป

จากนี้โลกของพลาสติกจะเปลี่ยนไปอย่างไร

ทุกวันนี้ธุรกิจก็พยายามทำผลิตภัณฑ์ให้บางลงแต่แข็งแรงขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น ทิศทางของพลาสติกคือคนต้องการคุณภาพที่ดีขึ้น ลดปริมาณการใช้ลง อนาคตจะเป็นเรื่องของคอมโพสิต (วัสดุที่มีองค์ประกอบจากเคมีที่แตกต่างกันตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปมาผสมกัน) มากขึ้น ไม่ใช่แค่โพลีเมอร์อย่างเดียว มีทั้งนาโนคาร์บอนและไฟเบอร์ต่างๆ การหลอมรวมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น จะเป็นเทรนด์นับจากนี้ไป อย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่จะใช้กัน น้ำหนักต้องเบา มันก็ต้องอาศัยวัสดุพวกโพลีเมอร์มากขึ้น ยางก็จะเป็นยางสังเคราะห์มากขึ้น เราจึงต้องมีความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น นี่ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ 

สำหรับไบโอพลาสติกหรือพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมปัจจุบันนั้น GC ถือเป็นผู้ผลิตระดับโลก จึงเป็นส่วนเสริมทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จะมาแทนพลาสติกทั้งหมดไม่ได้หรอกครับ ทิศทางของเราคือการก้าวไปสู่การทำสินค้าที่พิเศษมากขึ้น ลดความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่ Performance Product มากยิ่งขึ้น ถึงแม้อาจจะผลิตยากขึ้น กลุ่มลูกค้าก็อยู่ในวงจำกัด มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงเพื่อลดการแข่งขัน ซึ่งสุดท้ายก็จะช่วยลดปริมาณขยะลงและตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนอย่างชัดเจน

ผลิตของคุณภาพสูง ใช้ได้นาน อย่างนี้ผู้บริโภคก็จะซื้อไม่บ่อยนะครับ

เราก็หันไปผลิตอย่างอื่นแทนได้ครับ นี่เป็นความท้าทายของเรา ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ในโลกยังมีอีกมาก ไม่ใช่แค่พลาสติก ซึ่งปัจจุบัน ความต้องการใช้ก็ยังเยอะมาก การผลิตของอย่างเดิมมาสิบๆ ปี สักวันหนึ่งมันก็ต้องหายไป เป็นไปตามวัฏจักรธุรกิจ ของอย่างหนึ่งอยู่มาถึงช่วงหนึ่งก็จะเลิกไปเอง เดี๋ยวก็มีของใหม่มาแทน

วัฒนธรรมองค์กรแบบ GC เป็นอย่างไร

เราทำงานบนหลักคิดสี่อย่าง คือหนึ่ง กล้าคิดกล้าทำ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า สอง พัฒนาตัวเองและทำงานเป็นทีม สาม ทำงานเชิงรุกสนองความต้องการของลูกค้า สี่ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน 

องค์กรเราผ่านการเปลี่ยนแปลงมาเยอะ ทำเรื่อง Digital Transformation กันมาสักพักแล้ว ต้องปรับตัวให้เร็ว ทำงานร่วมกันโดยไม่ยึดกับไซโลที่แยกขอบเขตงาน และวัดผลงานความสำเร็จเฉพาะภายในหน่วยงานของตัวเอง ตอนนี้เราก็อยู่ระหว่างปรับองค์กร ผมพูดกับทุกคนว่าจะต้องพัฒนาทักษะใหม่กันหมด การที่ทำงานเดิมจนเก่งเป็นเบอร์หนึ่งในงานนั้นหลายๆ ปี อาจจะต้องเปลี่ยนไปลองทำงานอื่นดูบ้าง 

ผมไม่ได้แบ่งว่าใครเป็นคนใหม่หรือคนเก่า ทุกคนสำคัญเท่ากัน เราอยู่ร่วมกัน คุณธรรมพื้นฐานต้องเหมือนกัน ต้องฟังคนอื่น กล้าคิดกล้าทำ แสดงความคิดเห็นได้ ทำงานเป็นทีม ไม่ว่าจะคนรุ่นไหนก็ต้องทำงานแบบนี้ ไม่จำเป็นที่คนรุ่นใหม่จะเป็นปัญหาเสมอไปนะ บางทีคนรุ่นเก่าก็เป็นปัญหาเสียเองเพราะว่าทำแบบเดิมมานาน แต่คนเก่าเขาก็มีข้อดีของเขาที่คนใหม่ยังไม่มี 

สไตล์การบริหารงานของคุณเป็นอย่างไร

ผมมีความเชื่อว่า การทำงานนั้นเราต้องมีความรู้ ความรู้ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าตำรานะ และผมก็ไม่เชื่อเรื่องการใช้แต่ประสบการณ์หรือคิดเอาเอง สมัยนี้มีองค์ความรู้เยอะมาก ต้องรู้ในสิ่งที่ทำอยู่ ใช้ความเก๋าอย่างเดียวไม่ได้

อย่างถ้าทำการตลาดก็ต้องรู้จักกระบวนการผลิตด้วย ทุกคนต้องมีความรู้พื้นฐาน ผู้ใหญ่ที่จะขึ้นมาบริหารงานต้องรู้เรื่อง ไม่อย่างนั้นก็จะโดนเด็กๆ โห่ได้ เวลาส่วนใหญ่ของผมใช้ไปกับการคุยกันครับ ส่วนใหญ่ก็ประชุมงาน คุยงาน หน้าที่ผมก็ต้องคุยกับคนนั้นคนนี้ให้เขาเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน 

สำหรับการบริหารองค์กร เรื่องคนนี่ยากที่สุดครับ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีองค์ประกอบที่ละเอียดอ่อนพอสมควร สุดท้ายองค์กรต้องเดินไปข้างหน้า เราต้องตัดสินใจ และไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดีกับการตัดสินใจของเรา ซึ่งผู้บริหารต้องบริหารสมดุลเรื่องนี้ให้ได้


Questions answered by CEO of GC

ดื่มกาแฟไหม

เอสเปรสโซ่มัคคิอาโต้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมลองดื่มกาแฟเลย ปกติไม่ชอบเพราะดื่มแล้วจะมึน แต่จำได้ว่าไปลองกินที่ร้าน Monmouth ที่ลอนดอน อร่อยมาก เขาจะใส่น้ำตาลทรายแดงละเอียดๆ ลงไป 

เครื่องดื่มโปรด

ไวน์ครับ เป็นไวน์แดง ดื่มได้หมดทั้งไวน์ฝรั่งเศสและอิตาลีครับ แต่ละที่ก็มีข้อดีของมัน ไวน์ขวดละสองพันบาทดีๆ ก็มีนะครับ แต่ต้องเลือกหน่อย คนที่เราดื่มไวน์ด้วยก็จะช่วยเพิ่มรสชาติ บางครั้งไม่ดื่มไวน์ เราก็เลือกวิสกี้ครับ

งานแรกที่นึกถึงเมื่อตื่นเช้าขึ้นมา

ปกติผมจะไม่แบ่งเวลาแบบนั้น เวลาทำงานผมก็รีแลกซ์ได้ เวลารีแลกซ์ก็ทำงานได้ ปกติจะเดินทางเยอะช่วงก่อน COVID-19 เราสามารถทำงานเมื่อไหร่ก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ มันอยู่กับเราได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว อย่างช่วง COVID-19 นี้ GC นี่เป็นที่แรกๆ ที่ปรับตัวเร็วมาก เรารู้อยู่แล้วโลกจะเป็นแบบนี้ไปอีกนาน ต่อให้ COVID-19 หายก็อาจจะมีโรคอื่นเกิดขึ้นมาได้ เราก็ทำให้พนักงานเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของเราทำงานจากที่บ้านได้ ตอนนี้เราก็ให้คนสองในสามของบริษัททำงานจากที่บ้านและจะเป็นแบบนี้ตลอดไป เดี๋ยวนี้เราประชุมได้ทุกที่อยู่แล้ว 

มีอยู่ทริปหนึ่งช่วงต้นปีที่ปกติผมต้องไปอังกฤษ ตอนนั้น COVID-19 ระบาดหนักมาก แม้เป็นธุระสำคัญ ต้องไปเจอคนนั้นคนนี้ สุดท้ายผมตัดสินใจไม่ไปดีกว่า ใช้การประชุมผ่านวิดีโอคอลและงานก็ผ่านไปได้ ได้ผลดีด้วย ถ้าเราไม่ทำก็จะไม่รู้ พอทำถึงรู้ว่ามันได้ผลดี 

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ปรับความคิดยังไง

ทำให้ผมยิ่งเชื่อว่าต้องทำธุรกิจให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ มันยังบอกเราอีกว่าใครปรับตัวได้เร็ว ไม่ใช่แค่รอด แต่จะไปได้ดี ที่สำคัญคือ เราต้องปรับตัวให้เร็วกว่าคนอื่นให้ได้

เป็นคนที่วางแผนต่างๆ เป็นกระบวนการดี คุณซึมซับวิธีคิดแบบนี้มาจากไหน

ทุกอย่างที่หล่อหลอมผมมาจากพวกพระเอกในนิยายที่ผมอ่านครับ ผมอ่านทุกอย่าง ทั้งงานของไอแซค อสิมอฟ นี่ดีมาก หรืองานของแอน ไรซ์ ที่เขียนเรื่องแวมไพร์ หรือหนังสือกำลังภายในก็อ่านครับ มันให้แนวคิดที่ดีมาก มังกรหยกก็อ่าน แต่ผมชอบชอลิ้วเฮียง เป็นพระเอกที่สบายๆ ไม่ต้องฝึกอะไรมากแต่เก่ง

แล้วคุณเอ้กับชอลิ้วเฮียงเหมือนกันยังไง

ชอลิ้วเฮียงเป็นคนไม่ซีเรียส สบายๆ ช่วยปราบผู้ร้าย มีคุณธรรม

สิ่งที่ต้องทำก่อนนนอน

สวดมนต์ครับ ผมทำมาตั้งแต่เด็ก ผมไม่ได้สวดอะไรเยอะแยะนะครับ สวดเสร็จแล้วก็นั่งเล่นเกมต่อ

ของที่ต้องพกติดตัวตลอด

โทรศัพท์ครับ ยังไงก็ต้องใช้ แล้วไอแพดกับแว่นตาด้วยครับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้สายตายาวแล้ว (หัวเราะ) 

หนังสือเล่มโปรดของคุณ

ผมอ่านหนังสือเยอะครับ มันจะมีเล่มที่ชอบในช่วงชีวิตหนึ่งแต่ไม่ได้มีเล่มโปรดตลอดกาล อย่างที่ชอบก็งานเขียนของอสิมอฟ เรื่อง Foundation ที่มีหลายตอน ได้อ่านต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่าสิบปี หรือของแอน ไรซ์ นี่ก็ล้ำลึกมาก ทำให้เรามีส่วนร่วมกับการตั้งคำถามของตัวละครหลักๆ ว่าเขาเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและเพื่ออะไร ล่าสุดก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวเรื่อง Salvation ของแฮมิลตัน

ถ้าต้องเขียนหนังสือเองบ้าง จะเขียนเกี่ยวกับอะไร

ถ้าจะเขียนก็คงเขียนพวกนิยายล่ะครับ คงไม่ได้เขียนพวกฮาวทูหรอกครับ

GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together งานประชุมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก National Geographic และเครือข่ายพันธมิตรที่รวบรวมกว่า 40 ผู้นำความคิด นวัตกร และนักธุรกิจจากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันความคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม การสร้าง Business Model เพื่อก่อให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem)

งานนี้มุ่งหวังการแลกเปลี่ยนมุมมองและส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในรูปแบบ Circular in Action รวมพลังปฏิวัติการใช้ทรัพยากรโลก เพื่อสร้างสมดุลเพื่อความยั่งยืน โดยถอดบทเรียนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน วิถีการพึ่งพาตนเอง…ใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่า เปลี่ยนแนวความคิดสู่การปฏิบัติที่พร้อมขยายผล ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงที่เข้าใจง่ายและเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวัน SMEs องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนสังคม เพื่อเป็นแรงกระเพื่อมให้การนำแนวคิด Circular Economy ขยายผลออกไปให้มากที่สุด เพื่อจะสร้าง ‘วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า’ ร่วมกัน (Tomorrow Together)

GC Circular Living Symposium 2020 : Tomorrow Together วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 8.30 – 15.30 น. ลงทะเบียนรับชมทางออนไลน์ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ https://bit.ly/3jPzR3G

ที่มา: https://readthecloud.co/kongkrapan-intarajang-ptt-gc/