23 January 2017

ประธาน PTTGC นำทีมภาคเอกชน ร่วมลงนาม MOU Bioeconomy ร่วมกับภาครัฐ สถาบันการศึกษาและวิจัย

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ และ คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชน  ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย รวมทั้งสิ้น 23 หน่วยงาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทย โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธี  พร้อมด้วย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนสานพลังประชารัฐ และ คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติเข้าร่วมในการลงนามครั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว

Bioeconomy เป็นการนำ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรมสมัยใหม่ และ Biorefinery มาบริหารจัดการ ด้วย Technology และ Research and Development เพื่อให้เกิดคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดย Bioeconomy จะใช้สินค้าเกษตรจากมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นตัวนำร่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมในลักษณะห่วงโซ่ที่เพิ่มมูลค่า (Value Chain) ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เช่น เอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่มั่นคงและแข่งขันได้ อุตสาหกรรมชีวเคมี ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาเป็น Ingredient ผสมในอาหารแทนการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับโปรตีนจากธรรมชาติที่ดีมีความสมบูรณ์ ตลอดจนอุตสาหกรรมทางชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่และ มีอนาคต และต้องมีการลงทุนทางด้าน Research and Development สูง

ทั้งนี้ ภายใน 10 ปีจะมีมูลค่าการลงทุนตลอด Value Chain กว่า 4 แสนล้านบาท และในปีที่ 10    จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 75,000 บาท ต่อคนต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในโรงงานผลิตและ    การวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง และที่สำคัญ ยังเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อประชาคมโลกที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ณ ประเทศฝรั่งเศส