GC พร้อมมุ่งสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งใหักับการกำกับดูแลกิจการ และการมุ่งสร้าง Sustainable Living ร่วมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และลดโลกร้อนบนพื้นฐานของความยั่งยืน เพื่อการสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ทุกคน

บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทฯ ที่มีความยั่งยืน

เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่บริษัทฯ คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในเชิงรุก ทั้งบทบาทด้านการตัดสินใจ และบทบาทด้านการกำหนดทิศทางและกำกับดูแล ดังนี้

  1. ปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างเคร่งครัด โดยยึดหลัก “ข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน” ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด
  2. ทุ่มเทเวลา และให้ความสำคัญในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัทฯ โดยร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ มีการแสวงหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางของบริษัทฯ
  3. ทบทวนและให้ความเห็นชอบกับกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญ รวมถึงวัตถุประสงค์เป้าหมายทางการเงิน และแผนงานของบริษัทฯ พร้อมทั้งกำกับดูแลและติดตามให้ฝ่ายจัดการมีการปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนดไว้ตามทิศทางและกลยุทธ์องค์กรเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าฝ่ายจัดการจะสามารถนำวิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นไปปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจ ที่ประกอบด้วยหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการ ฝ่ายจัดการ พนักงานรวมทั้งลูกจ้างทุกคนไว้อย่างเหมาะสม โดยมุ่งสร้างสำนึกความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความเข้าใจและให้ยึดถือปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ควบคู่ไปกับข้อบังคับและระเบียบของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
  5. มีการกำหนดอำนาจอนุมัติในเรื่องต่างๆ นอกเหนือจากอำนาจที่ได้มอบหมายให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ไว้ในข้อกำหนดบริษัทฯ ได้แก่ การอนุมัติงบประมาณ การลงทุน การดำเนินโครงการต่างๆ ของบริษัทฯ และบริษัทในกลุ่ม ตลอดจนอนุมัติการเข้าทำสัญญา ที่สำคัญ รวมถึงการแต่งตั้งกรรมการที่ออกระหว่างปี การแต่งตั้งกรรมการเฉพาะเรื่อง การกำหนดรายชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท การกำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล
  6. จัดให้มีระบบบัญชี การรายงานทางการเงิน และการสอบบัญชีที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งดูแลให้มีกระบวนการในการประเมินความเหมาะสมของการควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  7. พิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้น และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างครบถ้วนและครอบคลุม ดูแลให้ผู้บริหารมีระบบหรือกระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยงรวมถึงการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงดังกล่าว ตลอดจนจัดให้มีการควบคุมภายในที่เพียงพอและมีประสิทธิผล
  8. สอดส่องดูแลและจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงรายการที่ เกี่ยวโยงกัน ให้ความสำคัญในการพิจารณาธุรกรรมหลักที่มีความสำคัญตามอำนาจการอนุมัติ โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวม
  9. จัดให้มีช่องทางในการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม และกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่ามีความถูกต้อง ชัดเจนโปร่งใส น่าเชื่อถือ และมีมาตรฐานสูงสุด
  10. ประเมินผลงานและทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และของประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างสม่ำเสมอ
  11. จัดให้มีระบบหรือกลไกการกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ที่เหมาะสม สอดคล้องกับผลการดำเนินงาน เพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  12. เป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานที่ดี มีจรรยาบรรณ สอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ
  13. จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณของบริษัทฯ ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง
  14. จัดให้มีระบบการคัดสรรบุคลากรที่จะเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งบริหารที่สำคัญทุกระดับอย่างเหมาะสม และมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสเป็นธรรม โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ตั้งแต่ระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ขึ้นไปถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จะได้รับการแต่งตั้งโดยใช้มติเสียงข้างมากของคณะกรรมการบริษัทฯ
  15. ต้องรายงานให้บริษัทฯ ทราบถึงการมีส่วนได้เสียของตนเองและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นส่วนได้เสียเกี่ยวกับการบริหารจัดการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย
  16. กรรมการบริษัทฯ ทุกคน มีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง หากมีภารกิจสำคัญที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ให้แจ้งต่อประธานกรรมการบริษัทฯ
  17. กรรมการบริษัทฯ ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนของสังคมไทย โดยเริ่มต้นที่การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนรอบโรงงานให้ดีขึ้น เพื่อให้ชุมชนและโรงงานสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
  18. สนับสนุนให้บริษัทฯ มีการดำเนินงานในการต่อต้านทุจริต คอร์รัปชันในทุกรูปแบบ เพื่อความก้าวหน้าและการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบของประธานกรรมการ

  1. ประธานกรรมการบริษัทฯ จะสนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายจัดการ แต่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานปกติประจำวันของบริษัทฯ
  2. กำกับดูแลให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการให้มีประสิทธิภาพและเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ
  3. กำหนดระเบียบวาระการประชุมตามหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
  4. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. สนับสนุนให้กรรมการทุกคนมีส่วนร่วมในการประชุม
  6. มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมดูแลให้กรรมการยึดถือปฏิบัติตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท ตามกฎหมาย และตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง