21 สิงหาคม 2563

Upcycling the Oceans, Thailand ต้นแบบมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนแนวคิดการจัดการและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติก (The Matter)

การจัดการขยะพลาสติก คือปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาขององค์กรระดับใหญ่ในฐานะผู้ผลิตอีกด้วย แนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นหนึ่งในหนทางแก้ไขปัญหาด้วยการจัดการทั้งระบบให้เกิดความยั่งยืน

Upcycling the Oceans, Thailand หรือ UTO คือ โครงการจัดการขยะบริเวณชายฝั่งและในทะเลไทยอย่างเป็นรูปธรรม ที่นำขยะพลาสติกมา Recycle และ Upcycle สร้างมูลค่าเพิ่มให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ซึ่งเป็นโครงการที่ GC ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ และได้รับการประเมินว่าสอดคล้องกับมาตรฐาน BS 8001: 2017 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก เป็นโครงการแรกของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นโครงการแรกนำร่องในอาเซียน

The MATTER ได้พูดคุยกับ ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ถึงเบื้องหลังของโครงการ รวมถึงเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนด้วยการส่งต่อแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้สำเร็จ และเปลี่ยนแนวคิดการจัดการขยะพลาสติกให้ไม่เหมือนเดิม

ภาพรวมการดำเนินงานของ GC ทุกวันนี้มีเป้าหมายอย่างไร

สิ่งที่ GC สนใจ คือการยกระดับความยั่งยืน โดยนำหลัก Circular Economy หรือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ เพราะความยั่งยืนเป็นตัวชี้วัดสำคัญและเป็นกลยุทธสำคัญขององค์กร ที่ทำเกิดให้ความสมดุลระหว่างสังคม สิ่งแวดล้อม และภาคธุรกิจ ยิ่งหลังโควิด-19 จะเห็นได้ว่าความยั่งยืนสำคัญมาก เรื่อง Circular Economy จึงเหมือนเป็นวิธีการ เป็นแนวคิด และเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้เราสร้างความยั่งยืนได้สำเร็จ

GC มีการนำคอนเซปต์ Circular Economy มาปรับใช้อย่างไร

เรามีความเชื่อเรื่องความยั่งยืน และนำคอนเซปต์ Circular Economy มาปรับใช้ในธุรกิจ ถ่ายทอดเป็นแนวคิด GC Circular Living หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สร้างสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่ง GC Circular Living นำ มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจผ่าน 3 องค์ประกอบ คือ Smart Operating, Responsible Caring, และ Loop Connecting

องค์ประกอบแรกคือ Smart Operating คือเราก็ต้องทำให้การจัดการในองค์กร Smart หมายความว่า ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดและเกิดของเสียน้อยที่สุด นำเทคโนโลยีแบบใหม่มาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต มีการทำวิเคราะห์ Life Cycle ของผลิตภัณฑ์ ว่าในกระบวนการผลิตทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) คิดเป็นเทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เท่าไหร่ และมีการปรับปรุงตลอดเวลาว่าจะลดปริมาณการปล่อยได้เท่าไหร่

ส่วนองค์ประกอบที่สองคือเรื่อง Responsible Caring เหมือนการที่เราทำอะไรก็ต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็ต้องออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ไม่ใช่ใช้แล้วทิ้งเลย ต้องสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก คือทำให้กรีนมากขึ้น เช่น การ Recycle และ Upcycle ขยะพลาสติก เป็นการนำผลิตภัณฑ์มาหมุนเวียนให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ยาวนานขึ้น รวมถึงการออกแบบหรือผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไบโอพลาสติก ซึ่งสามารถย่อยสลายได้โดยการฝังกลบ

และองค์ประกอบที่สาม 3 คือ Loop Connecting ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะว่าเรื่องนี้เราทำคนเดียวไม่ได้ เราจะต้องมีแนวร่วม จากเมื่อก่อนเรามีแนวร่วมเล็กๆ มาวันนี้เรามีแนวร่วมทั่วประเทศ รวมถึงทั้งโลกก็มาช่วยกันทำ เพราะว่าเรื่องบางเรื่องเราไม่ได้ถนัด ถ้าเรามีความเชื่อและเราขอความร่วมมือจากคนที่มีความเชื่อและความสนใจเหมือนกันมาช่วยกัน ก็สามารถทำให้ครบวงจรได้

อยากให้เล่าถึงการดำเนินงานโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand มีความท้าทายอย่างไรบ้าง เพราะว่ามันคือเรื่องใหม่ของคนไทย

ความท้าทายมีตั้งแต่เรื่องคนที่จะมาร่วมทำ เพราะสมัยก่อนคนก็ยังไม่ได้มีความตระหนักรู้เรื่องเกี่ยวกับ Circular Economy มาก พลาสติกที่อยู่ในทะเลและชายฝั่งยังไม่ได้มีเยอะขนาดนี้ เพราะฉะนั้นความยากก็คือต้องขายไอเดียนี้ให้ทุกคนเข้าใจ โดยใช้ Loop Connecting อย่างการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิ ECOALF ประเทศสเปน ซึ่งเขาทำสินค้า Upcycling หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกในทะเลและชายฝั่ง รวมไปถึงชุมชนบนเกาะเสม็ด และในจังหวัดระยอง เป็นต้น

เพราะฉะนั้นความยากก็คือการที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทำไปทำไม และมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งบางกลุ่มก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในภาพใหญ่ เราก็ต้องทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เขาจะทำมีประโยชน์ในภาพใหญ่อย่างไร นี่คือความท้าทายในช่วงเวลานั้น

ส่วนความท้าทายด้านเทคนิคก็มี เพราะการนำพลาสติกในทะเลและชายฝั่งมาทำ Recycle และ Upcycle ถือว่ายากที่สุด เพราะว่าการเก็บมีความยาก และพลาสติกที่อยู่ในทะเลจะไม่สะอาดเหมือนพลาสติกที่เก็บจากบนบก หมายความว่าการจะนำมา Reprocess, Recycle หรือ Upcycle ก็ไม่ได้ง่าย แต่ด้วยความเชื่อในเรื่องความยั่งยืน เราก็ได้ทำจนสำเร็จ และได้ทำให้คนรู้ว่า เมื่อเก็บขยะพลาสติกจากทะเลและชายฝั่งมาแล้วปลายทางจะกลายเป็นโปรดักต์อะไร ส่วนคนที่อยู่ปลายทางก็รู้ว่าการเก็บมามันยากอย่างไร ต้องมีความเข้าใจ และต้องรู้ว่าจะต้องบริหารจัดการทุกขั้นตอนอย่างไร ถ้าทุกคนมีความเชื่อเหมือนที่ GC เชื่อและทำอยู่ทุกอย่างก็จะทำได้อย่างยั่งยืน

อะไรคือปัญหาในกระบวนการทำ Recycle หรือ Upcycle ทุกวันนี้

พลาสติกมีชนิดที่เป็น Durable Grade ที่เอาไปทำอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ รถยนต์ เครื่องบิน บ้าน ท่อน้ำ ซึ่งเป็นพลาสติกที่ไม่ได้มีประเด็นหรือเป็นปัญหา เพราะพลาสติกเหล่านี้ ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้ง แต่อีกกลุ่มที่เป็นปัญหาคือพวกแพ็คเกจจิ้ง มีทั้งฟิล์มบางๆ ไว้ Wrap อาหาร ถุงพลาสติก หรือขวดพลาสติก จริงๆ พวกนี้ทั้งหมดมัน Recycle ได้ เพียงแต่ว่าถ้านำไปผลิตบางจนเกินไป คนที่เก็บมา Recycle ก็ไม่คุ้ม คือมันไม่ใช่ปัญหาเทคนิค แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ เราจึงร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุยกันว่าเราจะลดการผลิต Single-use Plastic ที่เป็นถุงบางๆ โดยการออกแบบให้มีความหนาขึ้น ถ้ามันหนาขึ้นสิบเท่าแปลว่า โอกาสที่ขยะจะลดลงก็สิบเท่าเช่นกัน เราสามารถนำมาใช้ได้หลายครั้ง และถึงแม้ปลายทางก็ต้องทิ้ง แต่เมื่อทิ้งแล้วยังเก็บไป Recycle ได้อีกเพราะมีความหนามากพอ จุดสำคัญก็คือเราต้องสร้างความเชื่อและความตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้องค์กรอื่นๆ สามารถนำไปขยายผลต่อได้  

จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา วัดผลออกมาได้มากน้อยขนาดไหน

หนึ่งเลยก็คือความเข้าใจของคนและการมีส่วนร่วมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนปริมาณขยะก็ลดไปได้ 40 ตัน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้เยอะเลย ที่สำคัญคือสร้างรายได้ให้เจ้าของแบรนด์ต่างๆ หรือคนปลายทาง ที่ผลิตสินค้า Upcycling มาขาย สร้างรายได้ 20 กว่าล้านบาทแล้ว และเปลี่ยนวิธีคิดที่ว่าผลิตภัณฑ์ที่ Recycle ไม่น่าใช้ เนื่องจากการ Upcycle เป็นการผสมผสานเรื่องการออกแบบและนวัตกรรมเข้าไปด้วย เป็นการเพิ่มมูลค่า ซึ่งก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดถึงความสำเร็จได้ดี แต่จริงๆ แล้วความสำเร็จนี้เป็นเรื่องเล็ก ความสำเร็จที่ใหญ่กว่านั้น คือเราสามารถขยายผล สร้างแนวร่วม แล้วต่อยอดไปโครงการอื่นๆ ได้อีกมากมาย 

การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้า Upcycling ถือว่ามีความท้าทายอย่างไร เพราะเรื่องราคาเป็นปัญหาสำคัญในการทำการตลาด

ถ้ามองเรื่องอายุหรือ Life Cycle ของพลาสติก เรามองว่าพลาสติกเป็นของดี เพราะฉะนั้นเรากำลังจะหาทางออกให้กับทุกคนที่ต้องการใช้พลาสติก สมมติว่าคนกลุ่มหนึ่งที่รักโลกมากๆ พร้อมจะจ่าย เพื่อไม่ทำให้เกิดขยะ เราก็มีไบโอพลาสติกเรียกว่า PLA กับ PBS ที่ทำมาจากอ้อยและข้าวโพด ซึ่งถ้าฝังกลบให้ถูกต้องมันก็ย่อยสลายได้กลายเป็นปุ๋ย ส่วนพลาสติกที่ใช้ทั่วไปอย่างเช่นขวด ก็จะมีทางเลือกที่นำมา Recycle ได้ หรืออีกทางออกก็คือการนำมา Upcycle เปลี่ยนเป็นเส้นใย แล้วนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตโปรดักต์ต่างๆ เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องพลาสติกก็สามารถหมดไปได้

ต้องยอมรับว่า GC เราเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ เราจึงไม่เก่งเรื่องพวกนี้ เพราะพวกนี้เป็น Consumer Products นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำไมเราต้องมีพาร์ทเนอร์ที่หลากหลาย อย่างเราทำร่วมกับ PASAYA หรือ Jim Thompson ที่เขาจะเข้าใจตลาดเกี่ยวกับ เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าม่าน มากกว่าเรา ทำให้เขาสามารถดีไซน์และหาความต้องการของตลาดได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ทำให้มีความน่าใช้ และจูงใจกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องอธิบายเรื่องของราคา ว่าเหตุผลที่ราคาสูง เพราะการ Recycle หรือ Upcycle ต้องเริ่มจากการเก็บ รวบรวม ล้าง ทำความสะอาด ผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อผลิตเป็นเส้นใย ซึ่งขั้นตอนเยอะกว่าการใช้พลาสติกแบบปกติอยู่แล้ว ทำให้ต้นทุนสูงกว่า

มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก (BS 8001:2017) มีหลักเกณฑ์ในการประเมินอย่างไร

BS 8001:2017 คือ มาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก และได้รับการยอมรับจากสากล โดยมาตรฐานดังกล่าวมีเกณฑ์การประเมินอยู่ 6 หัวข้อได้แก่ System Thinking, Innovation, Stewardship, Collaboration, Value Optimization และ Transparency และส่วนสุดท้ายที่เพิ่มเติมแต่สำคัญไม่แพ้กันคือการได้รับความเห็นชอบและตรวจสอบจากองค์กรภายนอก หรือ Third Party Verifier ซึ่งการที่จะผ่านการประเมินได้นั้น โครงการจะต้องมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรฐาน คือต้องมีครบทุกองค์ประกอบ สำหรับ GC เอง เราไม่ได้ทำโครงการโดยใช้มาตรฐานนี้เป็นเกณฑ์ตั้งแต่แรก แต่เราทำด้วยความเชื่อในเรื่องของ Circular Economy  ความท้าทายของเราคือการขยายความสำเร็จ โดยจะพยายามทำให้ครบวงจรมากขึ้น และขยาย Loop Connecting ให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น จากระดับชุมชน ขยายผลเป็นหมู่บ้านและเป็นเมืองใหญ่แล้ว ส่วนเรื่องมาตรฐานก็เป็นตัวชี้วัดที่ให้เห็นว่าเราทำครบหรือเปล่า ต้องมองในมุมกลับกัน เราคงไม่ทำเพียงเพราะว่ามันได้มาตรฐานเท่านั้น

มองว่าการที่ GC ได้ผลักดันให้โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ผ่านหลักเกณฑ์มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน จะเป็นการจุดประกายให้องค์กรหรือคนทั่วไปหันมาสนใจประเด็น Circular Economy มากขึ้นอย่างไร

GC เรามี Motto ก็คือ Chemistry for Better Living ถ้าพูดแบบตรงๆ เลย คือเราทำเคมีภัณฑ์ทั้งหลาย เพื่อให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น ไม่ใช่แค่พลาสติกอย่างเดียว ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถนำไปผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ รถยนต์ หรือของใช้ต่างๆ เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันดีขึ้น ขณะเดียวกันคำว่า Better Living ก็มีความหมายมากกว่านั้น คือ เป็นการทำให้โลกนี้ดีขึ้นด้วย การที่เราผลักดันเรื่อง Circular Economy เป็นการบาลานซ์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้เกิด Better Living กับทุกคนไปโดยปริยาย ตอนนี้ความสำเร็จของเราอีกอย่าง คือการที่คนมาช่วยทำกันเยอะมากขึ้น หรือองค์กรอื่นๆ ในประเทศไทยสนใจ เราก็ยินดีช่วยเหลือให้ความรู้ได้ เพราะเรื่องความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในแต่ละทุกธุรกิจที่จะนำไปทำต่อ จำเป็นต้องเข้าใจว่าเรื่อง Circular Economy มีประโยชน์ นอกจากช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังช่วยธุรกิจได้ด้วย

อนาคตของโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand อันใกล้ จะไปในทิศทางไหนต่อ

คือต้องทำต่อไป และต้องขยายผลให้ไปในพื้นที่อื่นๆ ด้วย แต่จริงๆ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การขยายเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือโครงการนี้ต้องเป็นต้นแบบ เพื่อเรียนรู้ข้อดี ข้อเสีย เป็นต้นแบบในการทำโครงการอื่นๆ ซึ่งบางทีอาจจะไม่ใช่ทะเลแล้ว อาจจะเป็นแม่น้ำ หรือเป็นบนบกซึ่งกำลังทำอยู่ นี่คือความสำเร็จของโครงการ ที่นอกจากการขยายตัวเองแล้ว ก็ยังทำให้ส่วนอื่นๆ ขยายต่อไปได้ด้วย

ที่มา https://thematter.co/brandedcontent/gc-upcycling-the-oceans-th/118793

บทสัมภาษณ์ผู้บริหารอื่นๆ