07 พฤษภาคม 2563

New Normal COVID-19 ปรับเปลี่ยนวิกฤตเป็นวิสัยทัศน์ (สื่อกระทรวงพลังงาน)

เป็นอีกหนึ่งแนวทาง ที่หลายคนอาจทราบแล้วว่าแตกออกมาจากหลักการของการทำ CSR หรือ Corporate social responsibility กับ แนวคิดของ Boston College Center for Corporate Citizenship ที่ตั้งใจใช้คำว่า “Corporate Citizenship” หรือ “การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม” เข้ามานิยามการทำธุรกิจคู่ไปกับการตอบแทนสังคมขององค์กร โดยมีแนวคิดที่มุ่งเน้นเพิ่มขึ้นจากการทำ CSR ทั่วไป คือ การพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และแนวทางนี้เองที่เหมาะเจาะพอดีกับแนวทางที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล ยึดมั่นและตั้งใจเดินหน้าให้เข้มข้นขึ้น เมื่อวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างใหญ่หลวงในตอนนี้

และเพื่อขยายความแนวคิดนี้ให้เป็นแบบอย่างกับองค์กรอื่น ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง จึงได้ตอบรับมาเป็น guest แชร์ประสบการณ์ใน รายการ CEO Talk พลิกวิกฤต ตอนที่ 6 “เปลี่ยนวิกฤต เป็นวิสัยทัศน์ เพื่อความยั่งยืนขององค์กรและประเทศ” นำเสนอทางเพจ Facebook : ห่วงใย Thai business

“เนื่องด้วยซัพพลายเชนต่างๆแทบจะเชื่อมโยงกันหมดในการทำธุรกิจ ดังนั้นในการบริหารจัดการองค์กร แม้จะทำธุรกิจต่างกัน แต่ย่อมต้องมีบางส่วนที่ใช้วิธีบริหารจัดการไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตนี้ องค์กรธุรกิจจึงควรมาแบ่งปันแนวทางและข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤต เพื่อสร้างแนวทางความยั่งยืนในอนาคตไปด้วยกัน”


เรียนรู้ตั้งแต่ต้นทาง การปรับวิกฤตเสริมวิสัยทัศน์ให้แข็งแกร่งขึ้น ของ PTTGC

การบริหารจัดการในช่วงวิกฤตนี้ ดร.คงกระพัน ในฐานะซีอีโอของ PTTGC ย้ำชัดเจนว่า ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในการวางกลยุทธ์จัดการองค์กรในช่วงนี้ โดยเรื่องแรกที่องค์กรของเขาให้ความสำคัญ คือ ความปลอดภัยของพนักงาน

“เรามองว่า องค์กรจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่จัดให้การดูแลความปลอดภัยของพนักงานเป็น Priority หลัก โดยต่อมา มีเรื่องอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้ถึงขั้นจัดอันดับความสำคัญก่อนหลัง แต่ก็ต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป คือ ความต่อเนื่องของการทำธุรกิจทั้งซัพพลายเชน ทั้งลูกค้า ซัพพลายเออร์ รวมถึง Liquidity หรือสภาพคล่องของตัวองค์กรเอง”

“เมื่อทำทั้ง 2 ประเด็นหลักนี้ได้แล้ว ก็ต้องมาทบทวนดูกำลังของตนเองที่จะช่วยเหลือสังคม โดยหลักการที่ PTTGC ใช้เพื่อช่วยเหลือสังคม จะดูจากทรัพยากร สินค้า ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงนวัตกรรมที่เรามีเป็นหลัก แล้วจึงประสานกับพาร์ทเนอร์หรือพันธมิตร ซึ่งอาจเป็นบริษัทในเครือ ให้มาร่วมทำโครงการดีๆร่วมกัน”

“เมื่อในบริบทของการบริหารจัดการองค์กรชัดเจน การสื่อสารกันภายในองค์กร ก็ต้องมีความชัดเจนด้วย ซึ่งต้องทำคู่กับการสร้างเข้าใจกับทุกภาคส่วนหรือทุก Stakeholders ให้เข้าใจในจุดเดียวกับเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น คู่ค้า Business partners ที่เรากำลังเจรจาธุรกิจด้วย โดยมุ่งให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันและเป็นข้อมูลตามจริง ไม่ปิดบัง”

ต่อมาในประเด็นที่ ดร.คงกระพัน กล่าวถึงเป็นลำดับต้นๆว่าทางบริษัทฯให้ความสำคัญมาก อย่าง ความปลอดภัยของพนักงานนั้น ในฐานะผู้นำองค์กร ก็ได้แชร์ให้ฟังถึงวิธีที่ทาง PTTGC ใช้เพื่อวางมาตรการความปลอดภัยให้กับพนักงาน โดยเฉพาะในฐานการผลิตที่สำคัญ คือ กรุงเทพฯ และ จังหวัดระยอง ว่า

“ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ด้วยธุรกิจที่ PTTGC ดำเนินอยู่ จึงจำเป็นต้องมีพนักงานจำนวนมาก แค่ในฐานที่จังหวัดระยอง ก็ประมาณ 6,000 คน นี่ยังไม่รวม ผู้รับเหมา พนักงาน contract รวมๆกันอยู่ก็เกือบถึง 20,000 คน ในจำนวนนี้มีคนทำงานที่มาจากต่างประเทศ ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ด้วย ทั้ง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และมาเลเซีย”

“ด้วยความหลากหลายของกลุ่มคนที่มาอยู่ร่วมกันนี้ เราจึงต้องมีการวางกลยุทธ์การสื่อสารที่เข้มแข็งก่อน อย่างแรกเราโฟกัสไปที่ Mindset ก่อน ให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาร่วมกันว่า ในวิกฤตนี้การปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเราตื่นตัวกันก่อนหน้า ตั้งแต่ในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว มาจนถึงปัจจุบัน เรียกกว่าไม่เคยลดความสำคัญลงเลย”

“ขั้นตอนต่อไป คือ การกำหนดเป้าและทิศทางที่ชัดเจนว่า เมื่อสร้างความตระหนักแล้ว สเตปต่อไป คือ ต้องการอะไร โดยเรากำหนดเลยว่า องค์กรของเราต้องมี “Zero covid case””

“นอกจากนั้น ในส่วนของการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร ก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน อย่างเมื่อเราออกกฎให้ Work from home (WFH) พนักงานทุกคนก็ต้องตระหนักได้ทันทีว่า ต้อง WFH และดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยของตนเองไปด้วย ไม่ใช่ใช้เวลาในการ WFH ที่ควรจะกักตัวอยู่บ้าน ออกไปที่อื่นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เป็นต้น”

“และที่ผ่านมาเรามีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อมาดูเรื่อง BCP หรือ Business Continuity และยังมีการคิดค้นแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อตามตัว เช็คสถานะพนักงานของเรา ระหว่างที่ WFH ด้วย โดยหลักๆก็ต้องกรอกให้ชัดเจนว่าวันหนึ่งทำอะไรบ้าง มีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาก็ตั้งเป้าว่า อย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานทั้งหมด ต้องกรอก ก็ปรากฎว่าได้ผลตามที่ตั้งไว้”

แต่อย่างไรก็ตาม ดร.คงกระพันก็ชี้ว่า นี่คือ การบริหารจัดการ สร้างความปลอดภัยให้พนักงานในอออฟฟิศ แต่สำหรับพนักงานในโรงงาน ก็ต้องใช้มาตรการและวิธีการในอีกแบบหนึ่ง

และแน่นอนว่า ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ PTTGC ผลิตนั้น มีหลายตัวที่มีความจำเป็นต่อการดูแลความสะอาดป้องกันเชื้อโรคเพื่อต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ อย่างสารเคมีบางอย่าง พลาสติก พอลิเมอร์ต่างๆ ซึ่งถ้าเราไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ก็ย่อมมีความเสี่ยงเกิดขึ้นแน่ ด้วยเหตุนี้ ดร.คงกระพัน จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสายการผลิตของ PTTCG


WFH อย่างไร ให้มีประสิทธิภาพ ในมุมมองของ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

ประเด็นต่อมา ดร.คงกระพันแชร์ประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ฟังต่อว่า ได้รับฟีดแบกจากพนักงานมาว่า การ WFH ทำให้พวกเขาทำงานหนักกว่าที่การทำงานที่ออฟฟิศปกติ ซึ่งในฐานะผู้นำองค์กร ก็ได้มาคิดต่อว่า ในเมื่อ การ WFH ยังคงต้องดำเนินต่อ แบบผ่อนหนัก-เบา ไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลให้กับการ WFH ต่อไปในระยะยาว

“หลังจากรับความคิดเห็น ฟีดแบก ของพนักงานเรื่องการ WFH แล้ว คณะผู้บริหารก็มาประชุมกันว่า เราอยากจะ WFH ต่อ แม้ในช่วงที่สถานการณ์ดูจะคลี่คลายเช่นตอนนี้ ก็ยังคงมีมติให้ WFH ต่อ ต่อให้มีการประกาศว่าวิกฤตนี้จบสิ้นลงแล้วเพราะมีวัคซีนแล้ว ในแนวคิดของบริษัทฯเอง ก็ยังคงคิดว่าจะมีมาตรการให้ WFH อยู่ เพียงแต่จะทำแค่ไหนเท่านั้นเอง”

“ดังนั้น องค์กร จึงต้องวางมาตรฐานระบบไอทีที่เอื้อต่อการทำงานในแบบที่มี Distance โดยยังคงรักษา Networking ของการทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ผมมองว่า การที่พนักงานส่วนหนึ่ง WFH ในแง่ของสังคมส่วนรวม ก็มีประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะคนที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะก็ย่อมช่วยลดความแออัดในระบบนี้ลงไปได้ ลดการใช้รถใช้ถนน”

“ผมมองว่า ที่คนพูดกันถึงเรื่อง New norm หรือความปกติใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังวิกฤตโควิด แน่นอนว่ามันจะเกิดขึ้นหลายด้าน แต่ที่ชัดๆ คือ New norm ด้านการทำงาน ซึ่งจนมาถึงตอนนี้ ก็ถือว่าเราปรับตัว ปรับทุกเรื่อง ให้เอื้อต่อการทำงานใน New norm กันแล้ว”

“ความท้าทายต่อไป จึงเป็นการคิดกันว่า ทำอย่างไร ที่จะบาลานซ์ ความต้องการขององค์กรในประสิทธิผลการทำงานของพนักงาน เข้ากับการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยของพลนักงานไปได้ด้วยกันมากกว่า”


ฮาวทูบริหารจัดการในโรงงาน ให้ทุกฝ่ายปลอดภัยตลอดวิกฤตนี้

อย่างที่เกริ่นมาว่า กิจการของ PTTGC มีในส่วนของโรงงานที่จังหวัดระยองด้วย ซึ่ง ดร.คงกระพันแชร์ว่า ต้องมีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันกับการทำงานในออฟฟิศ เพราะมีพนักงานที่ต้องทำงานเป็นกะหรือเป็นช่วงเวลา

“ในส่วนของโรงงาน จัดเป็นพื้นที่ควบคุม เราจึงมีการกำหนดในส่วนที่เป็น Control room เฉพาะพนักงานของ PTTGC เอง รวมๆแล้วก็มีกว่า 600 คน เพราะมีทั้งหมดประมาณ 20 โรงงานในระยอง โดยพนักงาน 600 คน เราต้องดูแลความปลอดภัยเขาเป็นอย่างดี เปรียบเป็น “ไข่ในหิน” ได้เลย ต้องห้ามเกิดการติดเชื้อขึ้นเลยแม้แต่คนเดียว”

“ที่ผ่านมา 1 เดือน เราดำเนินมาตรการ Lock up โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะเรานิยามพื้นที่ในปรงงานนี้ว่าเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่ต้องการการควบคุม พนักงานก็จะอยู่ในโรงแรมที่เราจัดไว้ให้ ระหว่างทางมาจากโรงแรมถึงโรงงานก็มีการจัดรถรับส่ง ที่ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ พร้อมทั้งกำหนดให้มี Social distance ระหว่างโดยสารรถอย่างเคร่งครัด”

“ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ในจังหวัดระยองเอง บรรดาโรงงานก็มักจะไปเช่าโรงแรมเพื่อให้พนักงานของตนเองพัก เพื่อดำเนินมาตรการควบคุมในรูปแบบที่เราเล่ามานี้กันเป็นส่วนใหญ่”

โดย ดร.คงกระพัน ย้ำว่า ที่ต้องกำหนดมาตรการ Lock up พนักงานของบริษัทในสายการผลิตนี้ เพราะเราไม่สามารถปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อได้เด็ดขาด ดังนั้น ถ้าปล่อยให้พนักงานเหล่านี้กลับบ้านไปพัก ย่อมเป็นการสร้างความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ตัวพนักงานได้

“มาถึงในตอนนี้ เราก็พิจารณาผ่อนมาตรการนี้ลงแล้ว เพราะในระยองไม่พบผู้ติดเชื้อติดต่อกันมาเป็นเวลาครบ เกือบ 14 วันแล้ว แต่ก็ยังคงมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่โรงงานและมาตรการการดูแลตนเองเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้ออยู่”

“และที่ผ่านมา ทางบริษัทก็ต้องขอบคุณพนักงานที่มีสปิริต มีความเสียสละ และตระหนักว่าตนเองมีความสำคัญในองค์กร ขอบคุณไปถึงครอบครัวของเขาด้วย ที่เวลามาเยี่ยมในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่าเหมือนการมาเยี่ยมนักโทษ มีมาตรการเข้มงวดประมาณนั้นเลย ของที่ครอบครัวเอามาเยี่ยมก็ต้องมาผ่านการฆ่าเชื้อก่อนด้วย”

ความเคร่งครัดและเข้มงวดในมาตรการที่บอกเล่ามานี้ ผู้ดำเนินรายการให้ความเห็นว่านับเป็นโมเดลที่ทาง PTTGC ได้วางไว้ให้กับการทำธุรกิจเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด ซึ่งหลายองค์กรสามารถนำไปปรับใช้เพื่อบริหารจัดการองค์กรได้จริงด้วย

โดยมาตรการส่วนหนึ่งที่มีประสิทธิภาพที่บอกเล่ามานี้ ดร.คงกระพันก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากการเรียนรู้ร่วมกันกับบริษัทคู่ค้า จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งมีประโยชน์มากต่อการวางมาตรการความปลอดภัยในการบริหารจัดการของบริษัทในไทย

“ที่ผ่านมา เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับ บริษัทคู่ค่า ที่ตั้งอยู่ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน นั่นคือ Wouhan Youjii ซึ่งประกอบกิจการด้านเคมิคัลคลล้ายกับกิจการของเรา อย่างมาตรการ Lock up เราก็ดำเนินการเหมือนบริษัทคู่ค้าที่เมืองอู่ฮั่นเลย โดยที่นั่นใช้ร่วมกับแอปพลิชันตามตัวพนักงานด้วยว่ามีการออกนอกพื้นที่ ไปไหนรึเปล่า ถ้าใครฝ่าฝืน จะมีบทลงโทษรุนแรง”

ดังนั้น บทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้ ที่ ดร.คงกระพัน ชี้ให้เห็น คือ ความร่วมมือ หรือ Cooperation ระหว่างธุรกิจ ระหว่างประเทศ หรือการ Collaboration ระหว่างองค์กร มีประโยชน์มาก โดยเราสามารถเลือกรับมา แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของการทำธุรกิจของเราได้

และเมื่อทาง PTTGC ได้เรียนรู้มา จึงสานต่อสู่ทัศนคติที่อยากจะแชร์ต่อ เพราะมองว่ามันสามารถนำไปปรับใช้ เป็นประโยชน์ได้กับทุกองค์กรในช่วงวิกฤต ที่เราหวังอยากเห็นทุกธุรกิจอยู่รอดไปด้วยกัน


มองภาพอนาคต New norm ขององค์กร หลังวิกฤตโควิด

“ผมมองว่าวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัส เป็นไปได้ว่ายังจะเกิดขึ้นได้อีกหลายระลอก เพราะแต่ละประเทศก็ฟื้นฟูกลับมาได้ด้วยเวลาที่ไม่เท่ากัน เมื่อคิดได้แบบนี้แล้ว ผมเลยมองว่า ทุกองค์กรจึงต้องตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาท”

นี่เป็นแนวคิดตั้งต้นที่ ดร.คงกระพัน ชี้ให้เห็น เพื่อนำมาสู่การวางยุทธศาสตร์ขององค์กร ตั้งรับกับ New norm ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป

“ในตอนนี้ เราได้ Exercise ระดมสมองคนในองค์กรให้มาร่วมทำในเรื่องของ New norm ด้วยการตั้งโจทย์ว่า New norm ที่ออกมาในตอนนี้ และเป็น outcome แล้วเอาพพวก Old norm ไม่ว่าจะเป็น global trend ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Awareness เรื่องสุขภาพ Digitalization หรือสังคมผู้สูงอายุ และสิ่งที่เรากำลังจะทำไม่ว่าอะไรก็ตามถ้าสามารถเทสต์ผ่านทั้ง New norm และ Old norm แปลว่ามันไปต่อได้”

“ระหว่างนี้เรายังไปดูธุรกิจปลายทางที่อยู่ในธุรกิจ ของ PTTGC ซึ่งเกี่ยวข้องกับเคมี ที่มีหลายด้าน ทั้งแพคเกจจิง ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ เราศึกษาจากธุรกิจเหล่านี้เพื่อมาเป็นข้อมูลต่อยอดธุรกิจเราด้วย บางอุตสาหกรรมที่เอ่ยมาอาจมีผลกระทบในระยะสั้น แต่บางอุตสาหกรรม ในระยะยาว ก็ยังโอเคอยู่ ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นธุรกิจ แพคเกจจิง มองผลกระทบที่ธุรกิจนี้โดนเป็นแค่ระยะสั้น ซึ่งตอนนี้อาจปรับตัวดีขึ้นแล้วด้วยซ้ำ”

“ปรากฎการณ์ที่กล่าวมานี้ ก็ทำให้ทาง PTTGC ต้องปรับ Business Plan เพื่อรับกับ New norm ตรงนี้ด้วย เพราะกิจการของเราซัพพอร์ตให้หลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรม จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้รอบด้าน”


ผันความได้เปรียบ มีผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และพาร์ทเนอร์ ให้เป็นโอกาสในการเป็น Corporate Citizenship ที่ดีของสังคม

ดังที่เกริ่นข้างต้นว่า ทาง PTTGC มีจุดเด่นในการทำธุรกิจด้านเคมิคัลชัดเจนอยู่ 3 ด้าน นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และพาร์ทเนอร์ ซึ่งปูทางให้องค์กรเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างประโยชน์ให้สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤตแบบนี้ได้ไม่ยาก

ต่อแนวคิดนี้เอง ดร.คงกระพัน ได้ขยายความต่อถึงสิ่งที่ PTTGC ทำเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในวิกฤตครั้งนี้ว่า

“จุดแข็งทั้ง 3 ด้านที่ทางบริษัทมี เป็นสิ่งที่เรามองว่าต้องนำมาใช้ต่อยอดให้เป็นประโยชน์กับสังคมในตอนนี้ โดยเรามองไปรอบตัวก่อน เพราะอยากจะกระจายความช่วยเหลือไปในหลายสเกล อย่างที่ผ่านมา ฐานการผลิตอยู่ในจังหวัดระยอง เราจึงอยากช่วยชุมชนในจังหวัดระยองก่อนเป็น priority แรก”

“ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เราได้มอบหน้ากากผ้า Upcycling ให้กับภิกษุสามเณร จำนวน 850 อัน หรือ ช่วยเหลือด้านการแพทย์ การสาธารณสุขด้วยการบริจาคเสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 2,300 ชุด หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 665 ลิตร เป็นต้น โดยเหล่านี้ เรากระจายไปยังชุมชนรอบฐานการผลิตของ PTTGC ในจังหวัดระยองก่อน”

“จากนั้น ค่อยขยายไปในระดับประเทศด้วยการเข้าไปมีส่วนสนับสนุนผลิตอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ให้กับทางโรงพยาบาล ตั้งแต่จุดคัดกรอง ไปจนถึงการทำหัตถการผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการวิกฤต”

“หลายอุปกรณ์เกิดจากนวัตกรรมทางด้านเคมีภัณฑ์และพลาสติกที่เรามี อาทิ PE Gown (Disposable Gown) ซึ่งต้องใช้ในทุกขั้นตอนของการดูแลรักษาผู้ป่วย”

“ขณะที่บางอุปกรณ์ก็เกิดจากโครงการความร่วมมือกับ Partner ซึ่งเป็นสถาบันทางการแพทย์ ที่ PTTGC Group ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนการผลิต และจัดหาวัสดุในการผลิต อาทิ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในการผลิต Protective Suit และ หมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อ เป็นต้น”

ที่มา: https://www.salika.co/2020/05/07/dr-kongkrapan-intarachang-pttgc-fight-covid/

บทสัมภาษณ์ผู้บริหารอื่นๆ