บทความ
Work Form Home อย่างไรไม่ให้ Burnout
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายๆคนต้องกลับมาทำงานที่พักหรือที่บ้านกันอีกครั้ง บางคนเริ่มปรับตัวได้แล้วและสนุกสนานไปกับเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น ลดเวลาการเดินทางบนท้องถนน รับมือกับการประชุมประสานงานทางไกลได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีอีกหลายคนพบว่าการทำงานจากที่บ้าน ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับพวกเค้า เมื่อไม่ได้ออกไปไหนมาไหนแบบอิสระด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง ไม่ได้มีโอกาสพูดคุยพบปะสังสรรค์กันอย่างเช่นเคย จนส่งผลให้เกิดความเครียด ความหดหู่ เริ่มเบื่อหน่ายกับชีวิตประจำวัน และทำให้คนทำงาน มองงานที่กำลังทำอยู่ในเชิงลบ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดต่ำลง อีกทั้งการทำงานที่บ้านก็ล้วนมีแต่สิ่งยั่วใจให้วอกแวกขาดสมาธิ สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน เพราะมีเตียงนอนที่หนานุ่ม โซฟาที่แสนน่าเอนกายและมีรีโมทอยู่ใกล้มือพร้อมจะกดเลือกดูหนังซีรี่ย์ได้ดั่งใจ และอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถดึงสมาธิออกไปจากสิ่งที่เราควรทำ จนรู้ตัวอีกทีก็เป็นคนนอนน้อยและทำงานหนักกว่าเดิมจากงานที่สะสมมากขึ้นไปเสียอีก เราลองใช้เทคนิคง่ายๆ เหล่านี้ ช่วยไม่ให้เราต้อง Burnout กันไปเสียก่อน
ใส่ชุดทำงาน แม้จะอยู่ที่บ้าน
การลุกขึ้นตามเวลา แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว จะช่วยทำให้สมองและร่างกายกระปรี้กระเปร่า และทำให้สมองตีความได้ว่าตอนนี้คือเวลาทำงานเหมือนกับตอนทำงานที่ออฟฟิศ และเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็เปลี่ยนกลับมาเป็นชุดอยู่บ้าน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้รู้สึกว่างานยังคงอยู่ในขอบเขตเวลาของมันตามที่เราวางไว้อยู่ เพียงแค่เปลี่ยนสถานที่ทำงานจากหลายกิโล เป็นไม่กี่ก้าว เท่านั้นเอง
ทำเช็คลิสต์งานที่สำคัญในแต่ละวัน และกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน
หัวใจของการทำงานจากที่บ้าน คือการทำงานให้มีประสิทธิภาพเหมือนตอนที่อยู่ออฟฟิศ และก็ต้องไม่ทำงานจนเกินเวลามากเสียจนร่างกายย่ำแย่ หรือส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวและครอบครัว เราควรลิสต์งานที่ต้องทำ วางเป้าหมายของงานในแต่ละวันให้เหมาะสม อย่าผัดผ่อนให้ตัวเองทำในสิ่งนอกเรื่องจนเกินเวลา และก่อนเลิกงานในแต่ละวัน เราก็ควรเช็คลิสต์งานที่ต้องทำในวันถัดไปด้วย เพื่อที่เช้าวันใหม่เราจะได้พร้อมทำงานอย่างมีเป้าหมาย ทั้งนี้แผนงานที่เราเตรียมไว้ควรมีความยืดหยุนได้บ้าง พร้อมเพิ่มลดหรือปรับแก้ไขได้ในกรณีมีงานด่วนเร่งรัดเข้ามา
กำหนดเวลาพัก ยืดเส้นยืดสาย
ควรกำหนดเวลาทำงานและเวลาหยุดพักให้ไม่ต่างจากการทำงานที่ออฟฟิศ และในระหว่างวัน ทุกๆ หนึ่งชั่วโมง เราก็ควรพักจากงานตรงหน้าแล้วลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสาย 5 -10 นาที เพื่อเป็นการผ่อนคลายอิริยาบทและพักสมอง เมื่อถึงเวลาพักกลางวันเราก็ต้องพักจากงานจริงๆ ละความกังวลจากงาน และในหนึ่งชั่วโมงของการพักนี้ เราอาจจะเลือกทำในสิ่งที่รู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ วาดรูป เป็นต้น เป็นเหมือนการพักผ่อนรีเซ็ตสมอง เพื่อพร้อมที่จะกลับมาทำงานใหม่อีกครั้งอย่างมีพลัง
ตกแต่งมุมทำงานให้เหมาะสม
โต๊ะทำงานหรือสภาพแวดล้อมของมุมทำงานที่ไม่เหมาะสมก็ส่งผลให้เรา Burnout ได้ด้วยเช่นกัน เช่น โต๊ะสูง หรือต่ำไป เก้าอี้นั่งไม่รับกับสรีระทำให้ปวดหลัง ปวดคอ แสงไฟในห้องที่สว่างไม่เพียงพอที่ทำให้ปวดตาและส่งผลต่ออาการปวดศีรษะได้ เราลองปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่สนับสนุนการทำงานของเราให้เหมาะสมกับเรา จัดเก็บโต๊ะทำงานให้เรียบร้อยสะอาดตา และเพิ่มมุมต้นไม้เล็กๆ ช่วยให้เราพักสายตาและรู้สึกสดชื่นผ่อนคลายได้บ้าง
การทำงานที่บ้าน ทำให้ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนเปลี่ยนไป ขอบเขตระหว่างการพักผ่อนและการทำงานหนักเขยิบประชิดจนแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งสำคัญคือการปรับสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่ให้รู้สึกว่าสบายเกินไปหรือเหนื่อยล้าจนเกินไป ลองหาวิธีปรับตัวในแบบของแต่ละคนดู ก่อนที่จะหมดไฟไปเสียก่อนโดยไม่รู้ตัว
อ้างอิง: https://hbr.org/2020/04/3-tips-to-avoid-wfh-burnout