20 พฤษภาคม 2563

วิธีสร้างแรงจูงใจในการทำ Physical Distancing ในวันที่ทั้งเมืองเริ่มคลายล็อคดาวน์

ภาพรถไฟฟ้าที่มีผู้คนเบียดเสียด ท้องถนนในช่วงเวลาเร่งด่วนกลับมามีรถหนาแน่นอีกครั้ง สวนสาธารณะที่มีผู้คนมาออกกำลังกายในช่วงเย็นกลับมามีชีวิตชีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่รัฐบาลประกาศคลายล็อคดาวน์เมื่อเร็วๆนี้ หลายคนคงได้เห็นภาพที่ผู้คนจำนวนมากต่อคิวเข้าห้างสรรพสินค้า จนบางห้างต้องประกาศหยุดรับคนเข้าห้างชั่วคราว เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการเว้นระยะห่าง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนต่างคิดถึงการดำเนินชีวิตแบบเดิม วิถีชีวิตก่อนที่เราจะรู้จักกับ COVID-19 หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นการสะท้อนว่าผู้คนกำลังมีอาการ ‘Caution Fatigue’ คือการเริ่มเหนื่อยล้าที่ต้องระมัดระวัง

รองศาสตราจารย์ Jacqueline Gollan อาจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น อธิบายว่า Physical Distancing คล้ายกับแบตเตอรี่ที่เต็มในช่วงแรก ที่ทุกคนต่างรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัดเพราะกลัวติด COVID-19 แต่พอแยกตัวจากสังคมนานๆ อาจทำให้บางคนเกิดความเครียด วิตกกังวล ที่วิถีชีวิตปกติเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มหมดแรง หมดพลัง และเริ่มหมดแรงจูงในการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจาก COVID-19 เหมือนแบตเตอรี่ที่กำลังจะหมดลง แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ เช่น การล้างมือ ที่ผู้คนเริ่มละเลย เป็นต้น

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่เริ่มมีอาการ ‘Caution Fatigue’ มาดูวิธีสร้างแรงจูงใจในการต่อสู้กับ COVID-19 กัน

  1. ดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดี
    หลายคนคงเคยได้ยินวิธีนี้มาซ้ำๆ เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ดื่มหนักจนเกินไป ยังคงปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงอยู่เสมอผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการลดความเครียดด้วยการทำอะไรที่ตัวเรารู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข และได้หัวเราะ
  2. การคำนึงถึงความเสี่ยงและประโยชน์
    หลายคนอาจจะรู้สึกเบื่อ อยากออกไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ แต่ต้องไม่ลืมว่า ในช่วงแรกที่เราต้องมี Physical Distancing เพราะเราต้องการ Flatten the Curve ที่จะทำให้จำนวนผู้ป่วยไม่สูงจนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าพฤติกรรมของเราส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ พฤติกรรมบางอย่างอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตัวเราเอง หรือแม้กระทั่งแพร่เชื้อให้คนรอบตัวเราได้
  3. สร้างกิจวัตรประจำวันบางอย่างขึ้นมาใหม่
    แม้ว่า COVID-19 จะทำให้กิจวัตรประจำวันบางอย่างของเราเปลี่ยนแปลงไป แต่เรายังสามารถหาเวลาให้กับสิ่งที่เราเคยให้ความสำคัญก่อนหน้าที่จะเกิด COVID-19 ได้ เช่น ปรับวิธีการออกกำลังกาย วิธีการเข้าสังคม ใหม่ๆ
  4. การสร้างนิสัยเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นเสมอ
    เริ่มจากการใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง เพราะเราเองต่างก็ไม่รู้ว่าจะได้รับเชื้อเมื่อไร และย่อมไม่มีใครอยากให้คนรอบข้างได้รับเชื้อ อันดับแรกต้องทำให้ตนเองปลอดภัย เพื่อให้มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 น้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ได้มากที่สุด

ที่มา: TIME , Mission to the Moon Podcast