12 ตุลาคม 2563

กลุ่ม ปตท. เปิดตัวนวัตกรรมพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน “โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล” แห่งแรกของประเทศไทย

GC และกลุ่มปตท. ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 คุณปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ คุณวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. คุณชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ PTT Tank พร้อมด้วยผู้บริหารกลุ่มปตท. ร่วมพิธีเปิดโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นการผสานความเชี่ยวชาญของกลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและนับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบนี้ในน้ำทะเล ที่ไม่เพียงมีส่วนสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business) ที่กลุ่มปตท. ได้วางเป้าหมายไว้ ณ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเล เหมาะกับการเป็นต้นแบบติดตั้งการใช้งาน โดยในระยะแรกจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ภายในสำนักงาน เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาและพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ

คุณปฏิภาณ กล่าวว่า “เพื่อตอบสนองการใช้งานทุ่นลอยน้ำชนิดลอยในทะเล ที่มักประสบปัญหาการเกาะสะสมของเพรียงทะเล และการใช้งานกลางแดดจัด ทำให้ทุ่นลอยน้ำเกิดความเสียหายและอายุการใช้งานสั้น GC จึงได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ InnoPlus HD8200B ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก ขึ้นรูปได้ง่าย ช่วยลดความหนา เมื่อนำมาอัดรีดเป่าขึ้นรูปในแม่พิมพ์ (Extrusion Blow Molding) เป็นทุ่นลอยน้ำ นอกจากนี้ ยังได้รับการรับรองตามมาตรฐานการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และสารแต่งเติมป้องกันรังสี UV รับประกันความทนทานต่อรังสี UV 25 ปี ซึ่งจากผลการทดสอบที่ผ่านมา พบว่าทุ่นลอยน้ำซึ่งลอยอยู่ในน้ำทะเลนี้ มีการเกาะสะสมของเพรียงทะเลน้อยลง มีความทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้งได้ดีเยี่ยม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสัตว์และพืชทะเล ซึ่งเป็นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน (Application-based) รวมถึงต่อยอดสู่การออกแบบแม่พิมพ์ทุ่นลอยน้ำรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต”

ข่าวอื่นๆ